ประเทศไทยอยู่ในโซนพื้นที่เขตร้อนชื้นและมีหน้าร้อนเป็นหลัก ทำให้อุณหภูมิพื้นที่มีแต่จะสูงขึ้นทุกปี แข่งกับค่าไฟที่พุ่งสูงจนสะดุ้งทุกครั้งที่เห็นบิลประจำเดือน ทำให้การสร้างบ้านในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับการลดความร้อนเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการออกแบบบ้าน เพื่อลดปัญหาบ้านร้อนอย่างตรงจุดที่สุด ลองไปดู 5 วิธีต่อไปนี้ที่จะช่วยให้บ้านหายร้อนอย่างมีประสิทธิภาพและยังช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย
1. ลดความร้อนจากหลังคา
หลังคาบ้านเป็นส่วนที่รับแสงแดดโดยตรง ดังนั้นด่านแรกในการกั้นความร้อนให้บ้านจึงเริ่มที่หลังคา สำหรับบ้านที่จะสร้างใหม่แนะนำให้เลือกใช้หลังคาสีอ่อนและพ่นฉนวนกันความร้อนอีกชั้น จะช่วยกันความร้อนที่แผดเผาเข้ามาผ่านหลังคาได้ดีขึ้น และหากติดแผ่นสะท้อนความร้อนด้วย ก็จะป้องกันความร้อนเข้าสู่โถงหลังคาได้
ส่วนบ้านที่สร้างเสร็จแล้วลองเสริมฉนวนกันร้อนบนฝ้าเพดาน จะช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ และควรเลือกฉนวนที่มีความหนา เพราะฉนวนกันความร้อนจะยุบตัวลงเรื่อยๆ ตามการระยะเวลา ดังนั้นยิ่งฉนวนมีความหนามาก อายุการใช้งานก็จะนาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูโครงสร้างหลังคาบ้านเราด้วย ว่าสามารถรองรับน้ำหนักได้มากน้อยเพียงใด
อีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดความร้อนที่หลังคาและบริเวณบ้านได้เป็นอย่างดี คือ การติดสปริงเกอร์ที่หลังคา แล้วเปิดในช่วงกลางวันช่วงแดดร้อนมากๆ น้ำจะช่วยดูดซับความร้อนที่สะสมออกจากหลังคา ช่วยลดอุณหภูมิได้ 5-10 องศาเลยทีเดียว นอกจากนี้น้ำที่ไหลลงมาจากหลังคา จะทำให้ดินคลายความร้อน ช่วยให้อากาศรอบๆ บ้านเย็นขึ้นอีกด้วย
2. สกัดความร้อนจากกระจก
เทรนด์สร้างบ้านในปัจจุบันมักนิยมใช้กระจกแทนประตู และหน้าต่าง เพื่อให้บ้านดูโปร่ง โล่ง และมีความทันสมัย ซึ่งแลกมากับการสะสมความร้อนให้กับบ้าน โดยเฉพาะหากมีกระจกในทิศที่ต้องรับแดด แต่สามารถแก้ได้ด้วย “ผ้าม่าน” เพื่อกรองแสงแดด เหมือนเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ไอแดดเข้ามาเพิ่มความร้อนให้บ้าน
ผ้าม่านที่ใช้ควรเป็นผ้าม่านกันแสงแบบ Dimout หรือผ้าม่าน UV ที่แสงลอดผ่านได้บางส่วน หรือจะเป็นแบบ Blackout ซึ่งมีความทึบและกันแสงได้ 100% ก็ได้เช่นกัน เพราะสามารถลดทั้งแสง ลดทั้งความร้อนให้บ้านได้
สำหรับบ้านที่ไม่ชอบการติดผ้าม่าน ยังมีตัวเลือกอีกหนึ่งวิธี คือ การติดฟิล์มกรองแสงกันความร้อนที่กระจก ซึ่งจะช่วยลดเปอร์เซ็นต์การรับแสงได้ เมื่อบ้านรับแสงลดลง ความร้อนที่เข้ามากับแสงก็ลดลงตามไปด้วย
3. ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ลดความร้อน
แสงแดดมาจากธรรมชาติ ก็แก้ด้วยธรรมชาตินั่นคือ “การปลูกต้นไม้” โดยร่มเงาจากต้นไม้จะช่วยบังแสงแดดที่เข้ามากระทบตัวบ้าน สีเขียวของต้นไม้ยังทำให้รู้สึกร่มรื่น ผ่อนคลาย บริเวณรอบๆ ต้นไม้จะเย็นสบาย เพราะช่วยดูดซับอุณหภูมิความร้อนได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือต้นไม้มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์
จุดที่ควรปลูกต้นไม้ไว้คือบริเวณริมหน้าต่างหรือข้างตัวบ้าน ถ้ามีพื้นที่มากอาจจะปลูกเป็นไม้ยืนต้น ช่วยป้องกันความร้อนเข้าตัวบ้านได้เป็นอย่างดี หรือถ้าไม่มีพื้นที่ปลูก สามารถปลูกเป็นกระถางไม้แขวน หรือการจัดสวนแนวตั้งก็ได้เช่นกัน สำหรับบ้านแบบตึกแถว อาคารพาณิชย์ที่มีชั้นดาดฟ้า แนะนำให้ทำสวน Roof garden ซึ่งจะช่วยลดความร้อนที่สะสมในหลังคาคอนกรีตลงได้
4. เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED
ชวนมาเปลี่ยนหลอดไฟลดร้อน เพราะหลอดไฟรุ่นใหม่จะปล่อยความร้อนลดลงกว่ารุ่นเก่า โดยเฉพาะหลอดไฟชนิด LED ที่ปล่อยพลังงานความร้อนออกมาน้อยกว่าหลอดไฟชนิดอื่น แถมคุณภาพของแสงสว่างก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอีกด้วย อีกทั้งอายุการใช้งานก็ยาวนานกว่า แถมประหยัดค่าไฟอีกด้วย
5. หลีกเลี่ยงการใช้พรมและขนสัตว์
เรามักจะเห็นบ้านตัวอย่างปูพรมสวยๆ จนต้องหาพรมมาปูตกแต่งบ้านตัวเองบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าพรมนี่แหละ เป็นตัวการกักเก็บความร้อนชั้นดี เมืองหนาวจึงนิยมปูพรมเพื่อรักษาความอบอุ่นนั่นเอง ดังนั้นในช่วงหน้าร้อนแนะนำให้เก็บพรมสวยๆ ไปก่อน หรือเปลี่ยนมาใช้พรมที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น พรมคอตตอน ช่วยกักเก็บความชื้นในอากาศไว้ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ทำให้บ้านร้อนและชื้นขึ้น
เราไม่สามารถบงการฝน ฟ้า อากาศได้ แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนให้อยู่ร่วมกับอากาศร้อนได้อย่างเป็นสุข ด้วย 5 เทคนิคลดความร้อนให้กับบ้านที่ทำได้ไม่ยาก และสำหรับคนที่ฝันกำลังจะมีบ้าน หรือมีแผนจะสร้างบ้าน ปัจจุบันมีเทคนิคและวัสดุสร้างบ้านที่ช่วยให้บ้านเย็นหลากหลายชนิด หากวางแผนออกแบบก่อสร้างเพื่อลดบ้านร้อนตั้งแต่แรก ก็จะได้บ้านเย็นประหยัดพลังงานในระยะยาว
และหากสนใจเทคโนโลยีบ้านเย็น ประหยัดพลังงาน ลองเลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านหรูมืออาชีพ ที่สามารถให้คำแนะนำได้ครบถ้วน มีใบอนุญาตดำเนินงานที่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงมีคู่ค้าที่เป็นร้านวัสดุก่อสร้างชั้นนำ เลือกใช้สินค้าดีมีคุณภาพ เหมาะสมกับบ้านแต่ละหลัง เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าจะได้บ้านตรงใจ และใช้งานได้อย่างคุ้มค่า
Cr. https://art-tech.co.th/5-how-to-reduce-the-heat-in-the-house/